วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศีล

ศีล

" ศีล " นั้น แปลว่า " ปกติ " คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับคือ ศีล๕ ศิล ๘ ศิล ๑๐ และ ศีล ๒๒๗ และในบ รรดาศีลชนิดเดียวกันก็ยังจัดแบ่งออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล ( ศีลระดับกลาง ) และอธิศีล ( ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์ )
คำว่า " มนุษย์ " นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล ๕ บุคคลที่ไม่มีศีล ๕ ไม่เรียกว่ามนุษย์ แ ต่อาจจะเรียกว่า " คน " ซึ่งแปลว่า " ยุ่ง " ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล ๕ ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล ๕ จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น " มนุษย์ธรรม " ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการ ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการเป็นปกติ ( ซึ่งรวมถึงศีล ๕ ด้วย ) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

การ รักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน

ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ

๑ . การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม

๒ . การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม

๓ . การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม

๔ . การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม


ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะ เป็นเนกขัมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุลกรรมอื่น มาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการ เช่น อานิสงส์ของการรักษา ศีล ๕ กล่าวคือ

๑ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๑ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วย เศษของบุญที่รักษาข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีพลานามัยที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันควร

๒ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๒ ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่น้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบกับช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆเช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ

๓ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๓ ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลในข้อนี้ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบกับรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดาก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล

๔ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๔ ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วย เศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผลชนิดที่เป็น " พุทธวาจา " มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้ฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี

๕ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๕ ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม


อานิสงส์ ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่ง ๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้นจะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีใน ชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่า การภาวนา เพราะ การภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน สงสารวัฏ การภาวนา จึง เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า " มหัคคตกรรม " อันเป็นมหัคคตกุศล

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นประโชน์แก่ผู้อื่นที่ได้อ่าน ขอบคุณครับ

    ตอบลบ